เรื่อง         แฟนเพจ : กระบวนการสร้างความรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 
               โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน

ผู้วิจัย       ดร.สุวัฒน์  อุ่นทานนท์  ตำแหน่งครู  วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ

               โรงเรียนทุ่งวัง  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์  เขต 4

ปีที่วิจัย     2556

บทคัดย่อ

           การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมายในการวิจัย  1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หน่วยที่ 5 รหัสวิชา 22203 เทคโนโลยีสารสนเทศ  3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  2) เพื่อประเมินความสามารถในการสร้างแฟนเพจ หน่วยที่ 6 รหัสวิชา 22203 เทคโนโลยีสารสนเทศ  3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  3) เพื่อศึกษาความสามารถและทักษะในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2 และ 4) เพื่อเสนอเชิงนโยบายในการนำเอาสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา

           กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านทุ่งวัง  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา  2556  จำนวน 17 คน ได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่  1) แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รหัสวิชา ง 32203 เทคโนโลยีสารสนเทศ 3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 4 แผน ใช้สอนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง รวม 4 สัปดาห์ ใช้เวลา 8 ชั่วโมง  2) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยมีตำแหน่งอ้างอิง http://www.facebook.com/aseanburiram4  3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน  ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 10 ข้อ 4) แบบประเมินการสร้างแฟนเพจ จำนวน 1 ฉบับ  5) แบบประเมินทักษะและความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  และ 6) กรอบแนวคิดในการสนทนากลุ่ม  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test แบบไม่เป็นอิสระต่อกัน (Dependent)

           ผลการวิจัย ปรากฏว่า

           1.  คะแนนทดสอบหลังเรียน (Post-test) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยที่คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการทดสอบหลังเรียน (Post-test) สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 85.00

           2.  ผลการประเมินการสร้างแฟนเพจผ่านสื่อสังคมออนไลน์     กลุ่มสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม รหัสวิชา 32203 เทคโนโลยีสารสนเทศ  3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  มีคะแนน สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 80 โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 88.75

           3.  ผลการประเมินทักษะและความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  มีคะแนน สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 80 โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 87.50
           4. ข้อเสนอเชิงนโยบายพบว่า ประกอบด้วย 3 นโยบายและ 16 มาตรการ นโยบายข้อที่ 1ส่งเสริมสนับสนุนการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายความเร็วสูง นโยบายข้อที่ 2 ส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพด้าน ICT ของครูและบุคลากรทางการศึกษาและนโยบายข้อที่ 3 ส่งเสริมสนับสนุนการนำ ICT มาประยุกต์ใช้สถานศึกษา ตามลำดับ

 
   ***ดาวน์โหลดเอกสาร รายงานการวิจัย นวัตกรรมฉบับสมบูรณ์  

 ตัวอย่างนวัตกรรม


 

การสนทนากลุ่ม เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

รางวัลที่ได้รับจากการนำนวัตกรรมไปจัดนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ